🦠 รู้หรือไม่? มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง

Administrator

🦠 รู้หรือไม่? มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง


                GoHospo มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกมาแชร์ให้กับคุณผู้หญิงทุกท่าน

                มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นโรคร้ายที่พบได้บ่อยมากในผู้หญิง ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก หลายคนก็เข้าขั้นลุกลามไปแล้ว ทำให้รักษาไม่ทัน และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรี รองมาจากมะเร็งเต้านม
                ในแต่ละปีพบว่าผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 10,000 คน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจาก "การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี" ( HPV: Human Papillomavirus) ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ 
                ทั้งนี้ เชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สำหรับผู้หญิง สายพันธุ์ 16 และ 18 สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% โดยสามารถแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์ 16,18 ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งชนิดอื่นๆ
2. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ เช่น สายพันธ์ 6,11 ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ หรือก็คือหูดที่อวัยวะเพศที่ทำให้รู้สึกเจ็บ

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี
  • ผู้หญิงที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • ผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน หรือ มากกว่า 3 คนขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีประวัติในครอบครัว เช่น มีญาติผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้หญิงที่มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เริม
  • ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่า 5 ปี ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น)
  • ผู้หญิงที่มีพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การรับประทานผักผลไม้น้อยเกินไป

รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชพีวี
  • การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาการมักจะปรากฏขึ้นหลังจากที่มะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานอกช่วงรอบเดือน หรือมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) 
  • ตกขาวมีเลือดหรือมีหนอง ช่องคลอดมีกลิ่น โดยหากพบอาการผิดปกติที่น่าสงสัย ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที การตรวจแปปสเมียร์  (Pap Smear หรือ Pap Test) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่าน และ ถ่างช่องคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูก ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้

มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ
ระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

1. ระยะก่อนมะเร็ง
2. ระยะลุกลาม

วิธีการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
                การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นการป้องกันแบบปฐมภูมิต่อการติดเชื้อ และรอยโรคที่เกิดจาก HPVบางสายพันธุ์ที่ก่อมะเร็ง แต่ไม่สามารถทดแทนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ จึงแนะนำให้ทำควบคู่กับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี
                หากกล่าวถึงการฉีดวัคซีน HPV หรือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หลายคนคงนึกถึงวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันยังมีวัคซีน HPV อีกหนึ่งชนิด คือ ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ครอบคลุมมากขึ้น


ฉีดวัคซีน HPV แบบไหนดีที่สุด
  • ประสิทธิภาพของวัคซีนจะได้ผลดีสุด หากฉีดในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ฉีดในวัยที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากงานวิจัยพบว่า ร่างกายของเด็กผู้หญิงสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ได้ดีในช่วง 9-15 ปี ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง แต่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง
  • ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12ปี
  • เด็กผู้ชายอายุ 9-26 ปี สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก เน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12 ปี


การฉีดวัคซีน HPV ต้องฉีดให้ครบ ทั้ง 3 เข็มไหม
แนะนำให้ฉีดครบถ้วนทั้งหมด 3 ครั้ง

เข็มที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก
เข็มที่ 2 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน
เข็มที่ 3 : ฉีดหลังจากเข็มที่แรก 6 เดือน

หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาแล้ว สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้อีกหรือไม่
                จากการศึกษาพบว่าหากได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ครบแล้ว 3 เข็ม ยังสามารถฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้ แต่ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 12 เดือน ก่อนเริ่มฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการฉีดวัคซีนอีกครั้ง


การฉีดวัคซีน เราต้องเตรียมตัวยังไง
มาไขข้อสงสัยก่อนการฉีดวัคซีน HPV กัน
คลิกเลย 👉🏻 Blogs (go-hospo.com)


วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีกี่ชนิด
มี 3 ชนิด ประกอบด้วย

1. ชนิด 2 สายพันธุ์ (16, 18) สำหรับผู้หญิง ช่วยป้องกันในโรค

  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งช่องคลอด
  • มะเร็งปากช่องคลอด
2. ชนิด 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) สำหรับผู้ชาย ช่วยป้องกันในโรค
  • หูดหงอนไก่
  • มะเร็งทวารหนัก 
สำหรับผู้หญิง ช่วยป้องกันในโรค
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งช่องคลอด
  • มะเร็งปากช่องคลอด
  • มะเร็งทวารหนัก
  • หูดหงอนไก่
3. ชนิด 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58) สำหรับผู้ชายและผู้หญิง ช่วยป้องกันในโรค
  • มะเร็งปากมดลูก 
  • หูดหงอนไก่ 
  • มะเร็งทวารหนัก 
  • มะเร็งปากช่องคลอด
  • มะเร็งช่องคลอด
  • มะเร็งช่องปากและลำคอ

แล้วหากอยากรู้ว่า " ทำไม ผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก "
คลิกอ่านเลย 👉🏻 Blogs (go-hospo.com)


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
                ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมักไม่รุนแรง ได้แก่ อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน อาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคันตามตัว เป็นต้น 
                ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง ส่วนผลข้างเคียงระดับรุนแรง เช่น กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillan Barre syndrome) ซึ่งพบได้น้อยมาก และไม่มีการศึกษายืนยันว่าวัคซีนเป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว


ข้อควรระวัง
  • ไม่ควรฉีดวัคซีน HPV ในผู้หญิงตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ ทั้งนี้หากได้รับวัคซีนเข็มแรกก่อนการตั้งครรภ์ สามารถมารับวัคซีนเข็มที่สองได้ตามปกติหลังจากคลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว
  • ผู้ที่มีภาวะแพ้ต่อสารประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์ ขนมปังและสารเสริมฤทธิ์ชนิดต่างๆ ไม่ควรฉีดวัคซีน
  • คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น กำลังให้เคมีบำบัด เพราะจะทำให้การกระตุ้นภูมิไม่ได้ผล 
  • ผู้ที่มีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี 
                

💉

สุดท้ายผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หากแต่สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี และ ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองในเชิงลึกระดับ DNA อีกด้วย ตรวจก่อนรักษาก่อน รู้ทัน ป้องกันได้!


ขอขอบคุณบทความ “มะเร็งปากมดลูก รู้ทัน ป้องกันได้” และ "วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ อาวุธใหม่ที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมมากขึ้น"
จากนายแพทย์วัชรพจน์ อเนกรัตน์ (โรงพยาบาลนครธน | ศูนย์สุขภาพสตรี)


LINK